You are currently viewing รายการลดหย่อนภาษี ปีล่าสุด

รายการลดหย่อนภาษี ปีล่าสุด

รายการลดหย่อนภาษี ปีล่าสุด

เข้าสู่ช่วงโค้งท้าย มนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้เกิน 120,000 บาทต่อปี ต้องเตรียมตัวยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2565 ซึ่งกรมสรรพากรเปิดให้ยื่นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 31 มี.ค. 2566 (กรณียื่นออนไลน์ได้ถึง 8 เม.ย.2566 ) ซึ่งแน่นอนว่าในช่วงเวลาที่เหลือ หากวางแผนการเงินดี ๆ พิจารณา”การออม การลงทุน “ที่สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ จะช่วยประหยัดเงินภาษีลงได้ อาจเป็นหลักร้อยจนถึงขั้นหลักแสน  เรามาดูกันว่าในปีภาษี 2565 สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอะไรได้บ้าง เงื่อนไขอย่างไร ดังนี้

สิทธิลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว

* ค่าลดหย่อนส่วนตัว  60,000 บาท ทุกคนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ โดยไม่มีเงื่อนไข
* ค่าลดหย่อนคู่สมรส ลดหย่อนได้ 60,000 บาท ต้องเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย และคู่สมรสต้องไม่มีรายได้ในปีภาษีนั้น
* ค่าลดหย่อนบุตร ได้คนละ 30,000 บาท โดยต้องเป็นบุตรตามกฎหมาย หรือบุตรบุญธรรมที่มีการจดทะเบียนรับรองบุตรบุญธรรม และบุตรต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี หรืออายุ 20 – 25 ปี แต่กำลังศึกษาอยู่ หรือในกรณีที่บุตรอายุเกิน 25 ปี ขึ้นไป ต้องมีสถานะเป็นบุคคลไร้ความสามารถ  ในกรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไป เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป สามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
* ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงให้กับสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาทต่อการตั้งครรภ์หนึ่งครั้ง โดยแนบเอกสารหลักฐานได้แก่ ใบเสร็จรับเงินและใบรับรองแพทย์จากสถานพยาบาล
* ค่าลดหย่อนภาษี กรณีอุปการะผู้พิการหรือบุคคลทุพพลภาพ ลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท เงื่อนไขผู้พิการจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทในปีภาษีนั้น มีบัตรประจำตัวผู้พิการ และหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะ (ในกรณีที่ผู้พิการหรือทุพพลภาพเป็นบิดามารดา – บุตร – คู่สมรสของตนเอง สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ทั้งสองประเภท)
* ค่าลดหย่อนเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเองและของคู่สมรส

กรณีเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเอง: ลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท ไม่เกิน 2 คน และจะต้องไม่ใช่พ่อแม่บุญธรรม โดยบิดามารดาจะต้องมีอายุมากกว่า 60 ปีในปีภาษีนั้น และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท กรณีบิดามารดามีบุตรหลายคน ไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนซ้ำซ้อนระหว่างพี่น้องได้ ต้องตกลงกับพี่น้องว่าใครจะใช้สิทธินี้

กรณีเลี้ยงดูบิดามารดาของคู่สมรส : ลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท ไม่เกิน 2 คน จะต้องไม่ใช่พ่อแม่บุญธรรมของคู่สมรส และคู่สมรสไม่มีรายได้เลยตลอดปีภาษีนั้น

สิทธิลดหย่อนจากการออมและลงทุน

* กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF : Retirement Mutual Fund) ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และเมื่อรวมกับ* สิทธิลดหย่อนเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ  แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
( * สิทธิลดหย่อนเพื่อการเกษียณอายุ ได้แก่ กองทุน RMF กองทุน SSF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ และเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ )
* กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF : Super Saving Funds) ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท แต่เมื่อรวมกับสิทธิลดหย่อนเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
* กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่เมื่อรวมกับสิทธิลดหย่อนเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
* กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 13,200 บาท แต่เมื่อรวมกับสิทธิลดหย่อนเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
* เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกัน

* เงินสมทบกองทุนประกันสังคม  ใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกินปีละ 9,000 บาท ( ปีพ.ศ.2565  มติครม.ปรับลดอัตราเงินสะสมประกันสังคม ทำให้สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุดอยู่ที่ 5,500 บาท)
* เบี้ยประกันชีวิต เงินฝากแบบมีประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
* ในกรณีทำประกันชีวิตให้คู่สมรสที่ไม่มีรายได้ สามารถนำค่าเบี้ยประกันมาลดหย่อนได้สูงสุด 10,000 บาท โดยเงื่อนไขของค่าลดหย่อนประกันชีวิตคือ ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป ต้องทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย และหากมีการเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี จะถือว่าเป็นการผิดเงื่อนไข ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
* เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท แต่เมื่อรวมกับสิทธิลดหย่อนเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท โดยเงื่อนไขเช่นเดียวกับประกันชีวิตทั่วไป
* เบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
* เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดาและบิดามารดาของคู่สมรส (กรณีคู่สมรสไม่มีรายได้) ใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทต่อปี (บิดามารดามีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่จำเป็นต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป)

สิทธิลดหย่อนจากมาตรการกระตุ้นศก.ภาครัฐ

* ค่าลดหย่อน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย ใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี กรณีมีผู้กู้ร่วม สิทธิประโยชน์จะเฉลี่ยตามจำนวนคนที่ร่วมกู้ เช่น สามีภรรยากู้ซื้อบ้านร่วมกัน จ่ายดอกเบี้ยตามจริงไป 100,000 บาท จะสามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าดอกเบี้ยบ้านได้คนละ 50,000 บาท เอกสารที่ต้องใช้ ได้แก่ สำเนาสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือรับรองหลักฐานการจ่ายดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยจากเจ้าหนี้จำนอง
* ค่าลดหย่อน “ช้อปดีมีคืน 2565” จากการซื้อสินค้าหรือบริการที่ตรงตามเงื่อนไขของโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 มาใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว)

สนใจคำนวนภาษีเบื้องต้น ปรึกษาฟรี !! ไม่มีค่าใช้จ่าย แอดไลน์